557 Views |
สารสกัดกัญชาทางการแพทย์
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ปลดล็อคการใช้ยากัญชา หรือสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในการรักษาโรคหรือศึกษาวิจัย เมื่อปี 2562 กระแสการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ก็เริ่มค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารสกัดจากกัญชาและกัญชงมากขึ้น
สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ คืออะไร?
สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ (Cannabis Based Medicine) คือ สารออกฤทธิ์ในกัญชาที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค เป็นสารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ได้แก่
เตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinol: THC) มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ช่วยทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับได้ง่ายขึ้น ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และกระตุ้นความอยากอาหาร
แคนนาบิไดอัล (Cannabidiol: CBD) ช่วยลดการอักเสบ อาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง
สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในรูปของสารสกัดน้ำมันกัญชา อาจมีส่วนประกอบของ THC และ CBD ในขวดเดียว หรือมีแค่สารใดสารหนึ่งก็ได้ โดยจะใช้หยดใต้ลิ้น 1-2 หยด หรือตามคำแนะนำของแพทย์
อย่างไรก็ตาม กัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีสัดส่วนของสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ผลการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แตกต่างกันตามไปด้วย จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่ระบุปริมาณของสารออกฤทธิ์ชัดเจน และใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?
โรค หรือภาวะที่สามารถใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์รักษาได้ มีข้อมูลงานวิจัยชัดเจน ได้แก่
ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด
โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
ภาวะปวดปลายประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังในผู้ใหญ่
โรค หรือภาวะที่คาดว่าสามารถใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์รักษาได้ แต่ยังขาดข้อมูลงานวิจัยในด้านของความปลอดภัยและประสิทธิผล ได้แก่
โรคพาร์กินสัน
โรคอัลไซเมอร์
โรควิตกกังวล (Generalised anxiety disorder: GAD)
โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
โรคมะเร็งระยะสุดท้าย หรือโรคอื่นๆ ที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)
การเพิ่มความอยากอาหาร ลดการสูญเสียน้ำหนักในผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
ลดอาการภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic stress disorder: PTSD)
ใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์อย่างไรให้ปลอดภัย?
แนวทางการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ให้ปลอดภัย มีดังนี้
ควรใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ภายใต้การดูแลของแพทย์ กับสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณะสุข สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้ที่ https://www.medcannabis.go.th/คลินิกกัญชา
การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์จะใช้ก็ต่อเมื่อยารักษาโรคอื่นๆ ไม่ได้ผล หรือใช้ร่วมกับยารักษาแผนปัจจุบันเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษา
เมื่อเริ่มใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ควรใช้ในปริมาณน้อยที่สุดก่อน หากยังไม่ได้ผล จึงค่อยปรับเพิ่มขนาดยาขึ้นทีละน้อย
หากกำลังรับประทานยารักษาโรคประจำตัว จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะอาจเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาได้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์
การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้
ง่วงซึม เวียนศีรษะ
มองเห็นสีผิดปกติ
คลื่นไส้
ท้องผูก
ความจำ ความสามารถในการตัดสินใจ และควบคุมลดลง
ความดันโลหิตต่ำ
ปากแห้ง
หูแว่ว
เกิดความผิดปกติทางจิต เช่น ประสาทหลอน หรือซึมเศร้า
เมื่อเกิดผลข้างเคียง หรืออาการผิดปกติหลังจากใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบทันที
ผู้ที่ไม่สามารถใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้ มีดังนี้
หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากสาร THC สามารถส่งผ่านรก หรือน้ำนมได้ และอาจทำให้มารดามีอาการทางจิตประสาทและอารมณ์แปรปรวนได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตจากสารเสพติด โรคจิตเภท
ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต ที่มีอาการรุนแรง
ผู้ที่มีประวัติแพ้สารสกัดกัญชา
ผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการดมยาสลบ เพราะอาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตแปรปรวน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ หนาวสั่น และทางเดินหายใจอุดกั้นได้
ผู้ป่วยเด็ก เพราะการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์จะส่งผลเสียในระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้เชาวน์ปัญญาลดลง
กฎหมายเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์
ในปัจจุบัน ยากัญชา หรือสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้รับการอนุญาตให้ใช้รักษาโรคหรือศึกษาวิจัยอย่างถูกกฎหมายแล้ว แต่ตำรับยาจะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารสกัดกัญชาทางการแพทย์จะได้รับอนุญาตแล้ว แต่ทุกส่วนของพืชกัญชา ทั้งใบ ดอก ยอด ผล รวมทั้งวัตถุหรือสารต่างๆ เช่น ยาง น้ำมัน ยังจัดเป็นยาเสพติดอยู่
สิ่งที่ได้รับการยกเว้นมีเพียงสารสกัดในกัญชาเท่านั้น ได้แก่ สาร CBD บริสุทธิ์ มากกว่า หรือเท่ากับ 99% ที่มี THC เจือปนไม่เกิน 0.01% และสารสกัดกัญชาที่มี CBD เป็นหลัก และมี THC ไม่เกิน 0.2%
การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ หรือยากัญชา ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป ไม่สามารถซื้อมาใช้ด้วยตนเองได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง เพื่อความปลอดภัย ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชา
หากมีอาการผิดปกติ หรือรู้สึกไม่สบาย ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันก่อน เนื่องจากสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้รับการแนะนำให้ใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล หรือใช้เสริมกับยาแผนปัจจุบันเท่านั้น
#พืชกัญชา #knowingcannabis #study #CBD #THC #cannabisterpene #aromatherapy #essentialoils
ที่มาของข้อมูล
กรมการแพทย์, คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ (https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/wp-content/uploads/2021/04/Guidance-Updated-v-update-V.4260464.pdf), 27 ธันวาคม 2564.
กระทรวงสาธารณสุข, กัญชาเพื่อการรักษา กับคำถามที่พบบ่อย (http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=653), 27 ธันวาคม 2564.
กระทรวงสาธารณสุข, ปลดล็อค...กัญชาทางการแพทย์เสรี (https://www.medcannabis.go.th/คำถามที่พบบ่อย/กฏหมาย), 27 ธันวาคม 2564.
แพทยสภา, สารสกัดกัญชาในทางการแพทย์ (https://tmc.or.th/pdf/fact/Info_cannabis_for_doctor.pdf), 27 ธันวาคม 2564.
ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. ๒๕๖๒ (http://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/PDF/law/ประกาศกระทรวงสาธารณสุข-เรื่อง-กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท-5-ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่-ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้-พ.ศ.-2562.pdf), 27 ธันวาคม 2564.
www.hdmall.co.th