761 Views |
ถอดรหัส ลดปวด ด้วยความร้อนและความเย็น
การประคบร้อนหรือเย็นเป็นวิธีหนึ่งในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน ซึ่งการใช้ความร้อนหรือความเย็นสามารถทำให้อาการปวดในบริเวณต่าง ๆ ลดลงได้ โดยมีการเลือกใช้ดังนี้
การใช้ความร้อนเหมาะสำหรับอาการปวดแบบไหน
· อาการปวดจากความเหนื่อยและความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ
· ความเมื่อยล้าและอาการเกร็งตึงที่เกิดจากความเย็นในร่างกาย
· อาการเหน็บชาและอาการตึงที่เกิดจากเลือดไหลเวียนไม่ดี
อุปกรณ์ที่ช่วยให้ความร้อน
แผ่นประคบร้อน (แผ่นผ้า / แผ่นสมุนไพร), ผ้าขนหนูนึ่งร้อน, ลูกประคบสมุนไพร, กระเป๋าน้ำร้อน
เมื่อใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้ความร้อนมาประคบบริเวณที่ปวด หลอดเลือดจะขยายตัว ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี เลือดสูบฉีดไปตามเส้นเลือดฝอย รวมถึงไหลเวียนไปทั่วร่างกาย กล้ามเนื้อจะผ่อนคลายได้ดี
ข้อควรระวังขณะใช้ความร้อน
· อย่าให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
· การใช้ความร้อนเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้
· การประคบร้อนจะเริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง ให้ประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
· ต้องไม่ประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีอาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น จะประคบร้อนได้ก็ต่อเมื่อการอักเสบน้อยลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากไม่มีอาการบวม แดง ร้อน
· หลังจากใช้ความร้อนแล้วต้องระวังอย่าให้ร่างกายเย็น ควรรักษาอุณภูมิร่างกายให้อุ่นตลอด
การใช้ความเย็นเหมาะสำหรับอาการปวดแบบไหน
· อาการปวดเฉียบพลันตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น นอนตื่นมาตอนเช้า ปวดคอมากเอี้ยวคอไม่ได้, หกล้มข้อเท้าพลิกปวดบวมทันที หรือ อาการปวดที่รุนแรงมาก ๆ ลักษณะนี้ในช่วงแรก ควรประคบเย็น เพื่อช่วยห้ามเลือด(ที่อาจจะมี)และลดอาการบวม
· อาการบวมที่เกิดจากการอักเสบ
· ถ้าปวดมานานแล้ว แต่ช่วงนี้ปวดมากขึ้น (acute on top of chronic inflammation) ให้สงสัยว่า มีอาการอักเสบเฉียบพลันซ้ำไว้ก่อน ให้ประคบเย็นในช่วงแรกเช่นกัน
อุปกรณ์ให้ความเย็น
แผ่นประคบเย็น, ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็ง, กระป๋องเครื่องดื่มเย็น
เมื่อใช้ความเย็นในการบำบัดรักษาอาการปวด หลอดเลือดบริเวณที่ได้รับความเย็นจะหดตัวลง อาการบวม อาการร้อนจากการอักเสบบริเวณที่ปวดจะลดลง หลอดเลือดกลับคืนสู่สภาวะปกติและปรับอุณหภูมิให้คงที่ การไหลเวียนเลือดคล่องขึ้น
ข้อควรระวังขณะใช้ความเย็น
· อย่าให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรงแต่ควรห่อด้วยผ้าขนหนูไว้ และห้ามประคบนานเกิน 15-20 นาที/ครั้ง เพราะอาจทำให้ผิวไหม้จากความเย็น (Frostbite) หรือเกิดอาการบาดเจ็บอื่น ๆ ได้
· การใช้ความเย็นประคบจะใช้ภายใน 24 – 48 ชม. หลังได้รับการบาดเจ็บ ประคบนาน 20-30 นาที
· หลังจากใช้ความร้อนแล้วควรเช็ดตัวให้แห้ง อย่าปล่อยให้ตัวเปียก